028019000 [email protected]

ลดหย่อนภาษี

วันนี้มาอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการ ลดหย่อนภาษี หลังจากที่ผมเคยแนะนำไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา และเห็นว่ามีคนถามเข้ามากันเยอะว่ายื่นภาษีในปี 2561 สามารถนำอะไรมาลดหย่อนได้บ้าง และมีข้อมูลอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือสามารถนำอะไรมาลดหย่อนเพิ่มเติม เพื่อรักษาสิทธิ์ในการลดหย่อนของตนเอง บทความนี้ผมจะบอกรายละเอียดอย่างครบถ้วน เพราะบางคนมีสิทธิ์ในการลดหย่อนไม่เหมือนกัน รับรองว่าเงินในกระเป๋าของคุณ จะสามารถนำไปใช้กับอย่างอื่นได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

ประเทศไทยมีกฎหมายบังคับให้ทุกคนที่มีรายได้เกิน 240,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 20,000 บาท ต้องยื่นภาษี เนื่องจากรายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี ดังนั้นการลดภาษีถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ แต่ลองคิดดูครับว่าเวลาจะยื่นชำระภาษีทั้งทีบางคนมีสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี แต่ไม่รู้ว่าสามารถนำอะไรไปลดหย่อนได้ ทำให้เสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย เรามาดูกันว่ามีวิธีไหนบ้างที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

ลดหย่อนภาษี

วิธีการลดหย่อนภาษี

1. ประกันสังคม

ประกันสังคม สามารถนำมาลดหย่อนตามจำนวนการจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

เงินประกันสังคมหรือที่เรียกกันว่าเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยหน่วยงานที่ชื่อว่ากองทุนประกันสังคม วัตถุประสงค์หลักในการทำประกันสังคม เพื่อช่วยสร้างหลักประกันและสร้างความมั่นคงให้กับคนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เชื่อหรือไม่ว่าบางคนทำประกันสังคมแต่ไม่รู้ว่าประกันสังคมคุ้มครองอะไรบ้าง ประกันสังคมมีความคุ้มครองที่สามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน โดยการคำนวณจะคิดจากจำนวนเงินสูงสุดของรายได้ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี คือ 15,000 บาท ทำให้สามารถนำมาใช้ลดหย่อนสูงสุดเฉลี่ย 9,000 ต่อปี ซึ่งถือว่าเยอะมากเลยทีเดียว

2. ประกันชีวิต

เบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

ประกันชีวิตทำไปเพื่ออะไร บางคนบอกว่าการเก็บเงินด้วยตนเองบางทีคุ้มกว่าการทำประกันชีวิตเสียอีก แต่เดี๋ยวก่อนครับใครคิดแบบนั้นแปลว่าคุณไม่รู้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การนำเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษี โดยสามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิตทั่วไป และ ประกันชีวิตบำนาญ สำหรับประกันชีวิตทั่วไปสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กรณีมีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้จะหักเบี้ยประกันได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าคู่สมรสมีรายได้จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีโดยหักเบี้ยประกันสูงสุดได้ถึง 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนโดยคิดจาก 15% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

3. ดอกเบี้ยเงินกู้

ดอกเบี้ยเงินกู้ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีตามจำนวนจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

การลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านและคอนโด หรือที่อยู่อาศัยสามารถนำมาหักภาษีได้ตามจำนวนจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ผมจะบอกในที่นี้ว่าการกู้บ้านหรือคอนโดกว่าจะผ่อนหมด บางที 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง ดอกเบี้ยเท่าตัวของราคาบ้านก็มี ซึ่งการเป็นหนี้เรื่องที่อยู่อาศัย ถือว่าเป็นหนี้ติดตัวแบบยาวนาน ดังนั้นเราสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาช่วยในการเสียภาษีให้น้อยลง และนำเงินไปช่วยในการผ่อนบ้านดีกว่าครับ

4. กองทุนรวม

กองทุนรวมที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีมี 2 ประเภท ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) เรียกโดยย่อว่า RMF กรมสรรพากรจะให้คนที่มีสิทธิ์ในการลดหย่อนโดยใช้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงในปีนั้นๆ โดยมีข้อกำหนดว่าสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้เฉลี่ยต่อปี และสามารถลดหย่อนได้ไม่เกินปีล่ะ 500,000 บาทต่อปี ดังนั้นใครที่ลงทุนกองทุนรวม RMF เวลาจะไปลดหย่อนภาษีจะต้องดูข้อกำหนดที่กรมสรรพากรได้ระบุไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ของตนเองนะครับ

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) นิยมเรียกว่า LTF กรมสรรพากรอนุญาตให้นำเงินลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมาคำนวณหักลดภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงในการลงทุน โดยผู้ลดหย่อนภาษีจะต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีบริษัทหลักทรัพย์กองทุนเป็นผู้บริหารการดำเนินงาน ส่วนข้อกำหนดในการลดหย่อน คือสามารถลดหย่อนโดยใช้สิทธิ์ไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปีหรือไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี หากเราขายหุ้นคืนก็ถือว่าไม่ต้องเสียภาษี

5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สำหรับบริษัทเอกชน) และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะรู้ดีว่าบริษัทหรือรัฐบาลจะบังคับให้ทำกันส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการประกันเงินในอนาคตเกี่ยวกับชีวิตในตอนวัยเกษียณ ซึ่งสามารถนำมาคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนการจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000บาท

6. คู่สมรส

ลดหย่อนภาษีสำหรับคู่สมรส สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท

เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับคู่สมรส สามารถลดหย่อนได้โดยที่คู่สมรสไม่ว่าจะเป็น สามี ภรรยา ที่ไม่มีรายได้ใดๆหรือสามารถเลือกยื่นภาษีแบบร่วมกัน เพื่อใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนเพิ่มขึ้นอีกตั้ง 30,000 บาท แต่ว่าคู่สมรสจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสและคู่สมรสจะต้องไม่มีเงินได้ในระหว่างปี หรือถ้ามีจะต้องเลือกที่จะนำรายได้มารวมกันเพื่อคำนวณภาษี เรียกได้ว่างานนี้แม่บ้านพ่อบ้านก็มีประโยชน์กับเขาแล้วนะ ฮ่าๆๆ

7. เลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูบิดามารดา

ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ การเลี้ยงดูลูกหรือพ่อแม่ของเรา ย่อมมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงนำไปลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

เลี้ยงดูบุตร ไม่ว่าจะเป็นลูกตามกฎหมายหรือลูกบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 15,000 บาท เงื่อนไขคือ ลูกจะต้องมีชีวิตอยู่และลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน เท่ากับลดหย่อนได้สูงสุด 45,000 บาท โดยลูกจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ถ้าใครมีลูกอายุเกิน 20ปีขึ้นไป หรืออยู่ในช่วง 21-25 ปีจะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส.ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งถ้าหากมีบุตรศึกษาต่อในประเทศ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ปริญญาเอก สามารถนำไปลดภาษีได้อีกคนละ 2,000 บาทเลยทีเดียว บุตรที่จะนำมาลดหย่อนภาษีจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีเกิน 15,000 บาทขึ้นไปหรือรายได้ที่มีจะต้องได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อาทิเช่น ลูกของเรามีอายุต่ำกว่า20ปีและได้รับเงินปันผล โดยถือว่าเงินปันผลจะถือเป็นเงินได้ของผู้ปกครอง โดยไม่ถือว่าลูกของเรามีรายได้นั่นเอง

เลี้ยงดูบิดามารดา ลูกกตัญญูย่อมได้รับแต่สิ่งดีๆ ขนาดกรมสรรพากรยังให้ความสำคัญ เพราะฉนั้นค่าเลี้ยงดูบิดามารดาสามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท หรือถ้าเราหรือคู่สมรสมีพ่อแม่ที่มีอายุเกิน 60ปี ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทจะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000บาท (รวมถึงบิดามารดาของคู่สมรสด้วย กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้) เงื่อนไขคือ บิดาและมารดาที่นำไปขอยื่นลดหย่อนภาษี ต้องมีการออกหนังสือรับรองว่าลูกคนไหนที่เป็นคนเลี้ยงดู แปลว่าลูกจะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

8. เงินบริจาค

เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา และเงินบริจาคอื่นๆ ใครสายเปย์สายบุญเชิญทางนี้เลยจ้า

สำหรับเงินบริจาคที่คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนุบสนุนการศึกษา สามารถนำไปหักภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือที่คิดจากการหักค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนอื่นๆ นอกจากการช่วยเหลือหรือการมีจิตใจอันดีในการแบ่งปัน ทำบุญทำทานสบายใจแล้วเงินบริจาคยังส่งผลกลับมาหาเราอีกด้วย เห็นไหมครับว่าบุญไม่ต้องรอชาติหน้า ชาตินี้แค่ลงมือทำก็มีส่วนทำให้เรามีชีวิตดีขึ้นแล้ว

9. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

ทำประกันสุขภาพให้พ่อแม่ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

หากเราทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่พ่อแม่จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ข้อดีของการทำประกันสุขภาพให้พ่อแม่ นอกจากจะสะดวกต่อไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดแล้วยังสามารถนำไปหารกันเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี กรณีที่มีลูกหลายคนได้อีกด้วย

10 ประกันสุขภาพ

เบี้ยประกันสุขภาพ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท

นอกจากประกันสังคมและประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย อันที่จริงเราสามารถทำประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ ควบคู่กันไปโดยข้อดีของการทำประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เป็นการซื้อประกันแบบรายปี สามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามความพึงพอใจของเรา แตกต่างจากประกันชีวิต ซึ่งสามารถติดต่อทำกับบริษัทประกันภัยรถยนต์หลากหลายแห่งชั้นนำของประเทศไทย เช่น วิริยะ สินมั่นคง เมืองไทยประกันภัย เป็นต้น


แนะนำโดย : Easyinsurebroker.com