ไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก ภัยเงียบที่อาจคร่าคนที่คุณรัก
ไข้เลือดออก มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกมุมอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และภูมิต้านทานน้อย และไม่ค่อยรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก ยุงลาย สักเท่าไหร่
ในปัจจุบัน อาการไข้เลือดออก สามารถคร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อย และแต่ละคนจะมีอาการที่มากน้อยแตกต่างกัน บางคนตรวจพบนอนรักษาที่โรงพยาบาลแปปเดียวก็หายกลับบ้านได้ บางคนอาการหนักหน่อยถึงขั้นรักษาที่ห้องไอซียู โดยการให้เลือด ให้น้ำเกลือ หากพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถต้านทานโรคไหว ยิ่งกว่านั้นคือ ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งถือว่าหนักมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ภายในไม่กี่วันเลยทีเดียว
สาเหตุการของโรคไข้เลือดออก เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เรียกว่า เชื้อไข้เลือดออกเดงกี โดยการแพร่เชื้อเกิดจากการที่ ยุงลายจะกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออก แล้วไปกัดคนที่อยู่ใกล้ๆกัน เป็นการแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ ซึ่งอาการที่แตกต่างกันเกิดจากภูมิต้านทานของแต่ละคนที่ไม่เท่ากันนั่นเอง
การติดต่อของโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก สามารถติดต่อจากคนไปสู่อีกคน โดยมียุงลายเป็นตัวนำพาหะที่สำคัญ (Aedes aeqypt) การติดต่อจะเริ่มจากการที่ ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นเชื้อไวรัสเดงกีจะฟักตัวและแพร่เชื้อมากขึ้นในยุงลาย จึงทำให้เชื้อไวรัสเดงกีสะสมอยู่ในตัวยุงลายตลอดระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน และแพร่เชื้อไปสู่คนที่ถูกกัดคนต่อๆไปได้
ยุงลาย เป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านพักอาศัย และจะออกกัดคนเวลากลางวัน และแหล่งเพราะพันธุ์ที่ดีของยุงลาย คือ น้ำนิ่งขังที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิด หรือภาชนะต่างๆ อาทิเช่น โอ่ง แจกันดอกไม้สด ถ้วยรองขาตู้กับข้าว จาน ชาม หม้อ ยางรถยนต์ ฐานกระถางต้นไม้ เป็นต้น
โรคไข้เลือดออก จะพบมากในฤดูฝน ยิ่งช่วงนี้ต้องระวังให้เป็นอย่างดี เนื่องจากในฤดูฝน ไม่ค่อยมีใครออกจากบ้าน และยุงลายยังมีการเพาะพันธุ์ที่รวดเร็วอีกด้วย และในประเทศไทย จังหวัดที่พบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ตลอดปี คือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร หรือเมืองหลวงของเรานี่เอง ดังคำพูดที่ว่า ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมียุง ดังนั้นที่ไหนเป็นที่อับชื้นหรือน้ำขัง ให้เทน้ำและคว่ำภาชนะทันที และอย่าเข้าไปนั่งใกล้ๆเด็ดขาด
ไข้เลือดออก อาจอันตรายถึงชีวิต พบว่าผู้ป่วยในบางรายมีอาการไข้สูง พอรักษาให้ไข้ลดก็สามารถกลับบ้านพักอาศัยได้เลย แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหนักๆ เกิดจาก ปริมาณเชื้อไวรัสเดงกีที่ได้รับ และภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วย ส่งผลให้อาการไข้เลือดออกในแต่ละคนแตกต่างกัน
ช่วงที่อันตรายที่สุด ของโรคไข้เลือดออก ในช่วงเวลาที่เข้ารักษาตัวและดูไข้ให้ลดลง ภายใน 48 ชั่วโมง หากผู้ป่วยเกิดอาการช็อกขึ้น หรือ เลือดออกตามร่างการ ถือว่าเป็นอาการที่หนักร้ายแรง เป็นสาเหตุในการเสียชีวิต สาเหตุเกิดจาก ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่ามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นผู้ป่วยจะแสดงอาการภภายนอกแต่อย่างใด แต่น้ำภายในหลอดเลือดจะไหลไปอยู่ในเนื้อเยื่อข้างเคียง และความดันเลือดต่ำลง จนทำให้เกิดอาการช็อกตามมา แต่ถ้าหากที่กล่าวมาผู้ป่วยท่านใดไม่มีอาการเช่นนี้ ถือได้ว่าปลอดภัยแล้ว
ลักษณะของยุงลาย
ยุงลายที่เป็นตัวนำพาหะของโรคไข้เลือดออก คือ ยุงลายตัวเมีย ลักษณะจะมีลายสีขาวสลับดำที่ท้อง ลำตัวและขา สามารถพบได้มากในบ้านพักอาศัยที่อยู่ใกล้คลอง หรือสวน ยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวันและสามารถเพาะพันธุ์โดยวางไข่ในน้ำนิ่ง และภาชนะที่มีน้ำขัง อาทิเช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้สด จานรองขาตู้ต่างๆ ยางรถยนต์ที่มีน้ำขัง เป็นต้น
อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ( ระยะไข้สูง ) : ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูงเกิดขึ้นในฉับพลันและไข้จะไม่ลงตลอดระยะเวลาประมาณ 2-7 วัน ถึงแม้ว่าจะมีการกินยาลดไข้ ไข้จะไม่ลดลง เกิดอาการ หน้าแดง ตาแดง มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ได้ อาเจียน อาการซึม และบางรายอาจจะเกิดอาการปวกท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ชายโครงขวา หรืออาการปวดท้องทั่วๆไป ส่งผลให้ท้องผูกและถ่ายเหลวได้ อาการของโรคนี้ถึงมีไข้สูงจะไม่มีน้ำมูกไหล หรือไอมาก แต่ถ้าผู้ป่วยคนใดที่มีอาการแสดงจะเห็นได้ว่ามีจ้ำเขียว จุดเลือดออกเกิดขึ้น ซึ่งจะมีลักษณะเป็นจุดสีแดง ขึ้นตรงข้อพับ หน้า แขนขา ซอกรักแร้ ช่องปาก ในระยะนี้หากอาการไม่บรรเทาจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นในระยะที่ 2
ระยะที่ 2 ( ระยะช็อกและมีเลือดออก ) : ในระยะนี้อาการมักจะเกิดในช่วงวันที่ 3-7 เป็นอาการที่สะสมเกือบจะอาทิตย์หนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤต โดยอาการไข้จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เนื่องจากการปรับตัวไม่ทันทำให้ผู้ป่วยเกิดการทรุดหนักและช็อกได้ รู้สึกได้ว่าผู้ป่วยมีอาการ กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น ปัสสาวะได้น้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็วขึ้น ความดันเลือดต่ำลง มีอาการซึม เลือดกำเดาไหล ถ่ายอุจจาระเป็นสีเลือด หรือ สีกาแฟ ในระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 24-48 ชม. หากไม่รีบรักษาอาจอันตรายถึงชีวิตได้ และส่วนใหญ่จะพบได้ว่าผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในระยะนี้ ถ้าหากว่าผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ จะเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 ( ระยะฟื้นตัว ) : สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือเกิดอาการช็อกแต่ไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก อาการจะเริ่มทรงตัวดีขึ้น โดยสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ เริ่มลุกนั่งได้ ไม่เวียนหัว ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3วัน รวมแล้วระยะเวลาของโรคไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ จะมีระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน
การรักษาโรคไข้เลือดออก ที่ถูกวิธี
การรักษา โรคไข้เลือดออก ที่ถูกวิธี ถึงแม้ว่ายังไม่มียาที่ต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะตัวแตกต่างกับโรคอื่นๆ อย่างเชื้อไวรัสเดงกีแล้ว การรักษาตามระยะอาการที่พบถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยในระยะแรกที่มีไข้สูงจะมีการให้ตัวยาที่มีชื่อว่า พาราเซตามอล ห้ามให้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้เลือดออกยังรุนแรง และหากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้จิบครั้งละน้อยๆ และจิบน้ำผลไม้บ่อยๆ และจะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกได้ โดยระวังให้ดีๆเวลาผู้ป่วยไข้ลดอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการช็อกขึ้น ดังนั้นผู้ดูแลหรือผู้ปกครอง ควรจะทราบอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ได้แก่ อาการปวดท้อง ปัสสาวะน้องลง ซึม กระสับกระส่าย มือเท้าเย็นลงพร้อมกับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลีย หากเกิดอาการเช่นนี้รีบส่งตัวเข้าโรงพยาบาล หรือรีบพบแพทย์โดยเร่งด่วน
การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด สามารถทำได้ ดังนี้
1. ปิดหน้าตาหรือประตูที่ไม่มีมุ้งลวด หรือ นอนในมุ้ง
2. ใช้ยากันยุงแบบทาหรือฉีด แต่ถ้าหากใช้แบบจุด จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง
3. ไม่ควรอยู่ในมุมมืด พื้นที่อับชื้นหรือมีน้ำขัง
4. ชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะเหงื่อหรือกลิ่นอับ ทำให้ยุงชอบ อาทิเช่น เสื้อผ้าที่ใส่แล้ว
วิธีควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สามารถทำได้ ดังนี้
1. กำจัดภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อไม่ให้ยุงเพาะพันธุ์ได้
2. ไม่ควรเปิดฝาภาชนะที่มีน้ำทิ้งไว้ เช่น ถังน้ำดื่ม อ่างเก็บน้ำ
3. ใส่ ผงซักฟอก น้ำส้มสายชู เกลือแกลง ขี้เถ้า ทรายอะเบต น้ำเดือด ลงในภาชนะที่มีน้ำขังทุกสัปดาห์
4. ใส่ ปลาหางนกยูงลงในอ่างบัว ถังเก็บน้ำในห้องน้ำ เพราะปลาหางนกยูงจะไปกินลูกน้ำในถังน้ำ
5. ล้าง ขัด ทำความสะอาด ภาชนะเก็บกักน้ำ สม่ำเสมอ
6. เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สด ทุกๆ 7 วัน เพื่อทำลายไข่และการเพาะพันธุ์ยุงลาย
7. ทำความสะอาดรางระบายน้ำฝน อย่าให้มีน้ำขังหรือเศษอุดตันท่อน้ำทิ้ง
8. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ชุมชน ให้สะอาด โดยให้เริ่มจากบ้านของเราเองก่อน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับเพื่อนสำหรับโรค ไข้เลือดออก ถือว่าเป็นโรคที่น่ากลัวกว่าที่คิดใช่ไหมครับ ดังนั้นการกันไว้ดีกว่าแก้ คงเป็นเรื่องง่ายๆที่เราก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการ ทำความสะอาดภาชนะที่จัดเก็บน้ำ และการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ใช่แค่เพื่อนตนเอง แต่ทำเพื่อคนที่เรารัก ครอบครัว สังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกของประเทศอีกด้วย
หมวดหมู่ : สาระน่ารู้
เรียบเรียงและแนะนำโดย : www.easyinsurebroker.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : sanook.com