ประกันสังคม
ประกันสังคม ภาษาอังกฤษ : Social security
สำหรับเพื่อนๆที่ทำประกันสังคม เราเชื่อว่าคนที่ทำงานจะคุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่า ในการที่เราโดนหักเงินในแต่ละเดือน โดยนายจ้างนั้น เราจะได้อะไรกลับคืนมา ดังนั้นเราจึงต้องมาดูกันว่า สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับจากประกันสังคม มีอะไรบ้าง
ประกันสังคม คืออะไร
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และมีการชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
จุดประสงค์ของการทำประกันสังคม คือ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันตนเองในด้านของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการเจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพ การเสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน จึงทำให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาพยาบาลและได้รับการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ผู้ประกันตน คืออะไร
ผู้ประกันตน คือ บุคคลซึ่งมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ขาดการจ่ายเงินเกิน 3 เดือน ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33)
ผู้ประกันตนภาคบังคับ คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มี่ลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องทำประกันสังคมภาคบังคับ
2. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39)
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งทำการลาออกจากสถานประกอบการ และได้มีการสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 อย่างต่อเนื่อง โดยการสมัครประกันสังคมในมาตรา 39 มีเงื่อนไขชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกจากสถานประกอบการมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จะต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองในกรณี : เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ
3. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 40)
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 40 คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และ ไม่เคยทำการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำหรับผู้ที่จะ สมัครเป็นผู้ประกันสังคมตนในมาตรา 40 จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือเรียกว่า แรงงานนอกระบบ และจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
“ แล้วจะรู้ได้ไงว่าเราเป็นคนทำงานจัดเป็นผู้ประกันตนประเภทไหน ”
สำหรับใครที่ทำงานอยู่ แน่นอนว่าจัดอยู่ใน ผู้ประกันตนในมาตรา 33 อย่างแน่นอน อาทิเช่น พนักงานออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมและลูกจ้างทั่วไป ซึ่งรู้หรือไม่ว่าการทำประกันสังคมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีต่อปีได้มากมายเลยทีเดียว
ผู้ประกันตนเองในมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่น้อยกว่า 15-60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงานและทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 7 กรณีด้วยกัน ได้แก่ เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ , ทุพพลภาพ , เสียชีวิต , คลอดบุตร , สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน
► กรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ : ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่ารักษาด้านการทำฟัน สิทธิในการรักษารากฟันเทียม สิทธิการรักษาโรคทางจิต ยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษาโรคมะเร็ง 10 ชนิด การบำบัดไต โดยทุกอย่างจะอยู่ที่หลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สามารถขอรับเงินทดแทนเนื่องจากการขาดรายได้ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างหยุดงาน หรือเพื่อนำไปรักษาพยาบาล ซึ่งประกันสังคมจะทำการจ่ายค่าชดเชยให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเงินเดือนล่าสุด
► กรณีทุพพลภาพ (ไม่ใช่เกิดจากการทำงาน) : ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์รวมถึง ค่าพาหนะในการรับส่งตัวไปโรงพยาบาล เงินทดแทนการขาดรายได้จากผลกระทบด้านทุพพลภาพ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเงินเดือนตลอดชีวิต
► กรณีเสียชีวิต (ไม่ใช่เกิดจากการทำงาน) : ในกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ผู้จัดการศพผู้ประกันตนสามารถเบิกค่า ทำศพได้ 40,000 บาท ซึ่งทายาทหรือบุคคลในครอบครัว สามารถรับเงินสงเคราะห์เพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง โดยการจ่ายเงินสงเคราะห์ จะคิดจากเงินเดือนเฉลี่ยตั้งแต่ หนึ่งเดือนครึ่ง-ห้าเดือน โดยการคิดเงินสงเคราะห์จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมอีกด้วย
► กรณีคลอดบัตร : ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในการคลอดบุตรได้ครั้งละ 13,000 บาท ยังไม่หมด ผู้ประกันตนยังสามารถเบิกเงินทดแทนจากการขาดรายได้ในกรณีคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ50 ของเงินเดือน เป็นเวลา 90 วัน
► กรณีสงเคราะห์บุตร : ผู้ประกันตนจะได้รับเงินค่าสงเคราะห์บุตร ในรูปแบบเหมาจ่ายเดือนล่ะ 400บาทต่อคน โดยจะจ่ายเมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่ 0-6 ปี
► กรณีชราภาพ : เมื่อผู้ประกันตนมีอายุ 55 ปีจะมีสิทธิในการรับเงินบำเน็จหรือบำนาญการชราภาพ โดยจำนวนเงินจะคิดจากระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสงคมอีกด้วย
► กรณีว่างงาน : ประกันสังคมจะจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้ประกันตนในกรณีว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นการว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง หรือ ลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยจะแบ่งเป็น 2 กรณี
► กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง : จะได้รับเงินค่าชดเชยร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 180 วัน
กรณีว่างงานจากการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินค่าชดเชยร้อยละ 30 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ประกันสังคม จะมีลักษณะความคุ้มครองคล้ายกับ ประกันสุขภาพ ที่ทำกับบริษัทประกันนั่นเอง โดยผู้ประกันตนแต่ละรูปแบจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่ที่มีการจ่างเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนโดยไม่ขาดการจ่ายเงินเกิน 3 เดือน สามารถมั่นใจได้เลยว่า การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จะไม่เป็นการจ่ายเงินที่สูญเปล่าอย่างแน่นอน
แนะนำโดย : easyinsurebroker.com